Please wait...
SOLUTIONS CORNER
16 วิธีเพิ่มความเร็วแล็ปท็อป

16  วิธีเพิ่มความเร็วแล็ปท็อป


16 ways to speed up your laptop

การปรับแต่งซอฟต์แวร์และการอัปเกรดฮาร์ดแวร์จะช่วยเพิ่มความเร็วให้กับแล็ปท็อปของคุณได้


1. ลบโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้

ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ คุณมีแนวโน้มที่จะติดตั้งโปรแกรมต่างๆ เพิ่มเติมลงบนอุปกรณ์ ถึงแม้ว่าซอฟต์แวร์และส่วนขยายเว็บเบราว์เซอร์อาจมีประโยชน์ในตอนที่ติดตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป โปรแกรมเหล่านี้มาอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ หากคุณไม่ได้เช็กแอปพลิเคชันที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้งานมานานแล้ว หรือเช็กว่ามีอะไรที่ถอนการติดตั้งได้ ก็ได้เวลาที่ควรจะเริ่มจากตรงจุดนั้นก่อน

ในความเป็นจริง โปรแกรมเล็ก ๆ อาจกินทรัพยากรของระบบมากกว่าที่คุณคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมการปรับแต่งเดสก์ท็อป โปรแกรมสแกนไวรัส และเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพของไฟล์ พวกซอฟต์แวร์อัตถประโยชน์เหล่านี้สามารถลดทอนประสิทธิภาพการใช้งานอุปกรณ์ของคุณได้

หากต้องการดูโปรแกรมที่ติดตั้งอยู่บน  Windows 11 ทั้งหมดง่าย ๆ ให้เปิด “Settings” เลือก “ Apps” และ “Apps” จากนั้นไปที่ “Apps & Features” เพื่อดูรายการแอปพลิเคชันที่มีการติดตั้งทั้งหมด ซึ่งสามารถถอนการติดตั้งได้ภายในเมนูเดียวกัน ทั้งนี้ ถ้าให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดี คุณก็ควรถอนการติดตั้งแอปที่ไม่ใช้งานเป็นระยะ ๆ แต่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ถอนการติดตั้งอะไร การจดจำไว้ว่าเคยติดตั้งอะไรไว้ ก็ถือเป็นประโยชน์ไม่น้อย 


2. ตั้งลิมิตจำนวนแอปที่เปิดอัตโนมัติ

มีโปรแกรมหลายโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาให้เปิดเองได้โดยอัตโนมัตินับตั้งแต่เราเปิดเครื่อง สิ่งนี้ช่วยได้มากสำหรับแอปพลิเคชันทำงานอย่าง Slack หรือ Teams  แต่ถ้าหากมีจำนวนโปรแกรมมากเกินไปก็อาจส่งผลให้หน่วยความจำต้องรับภาระหนักในการเปิดโปรแกรมเหล่านี้เช่นกัน

3. เอา Bloatware ออกไป

ไม่ได้มีแต่อุปกรณ์เก่า ๆ ที่ช้าลงได้ แล็ปท็อปที่เพิ่งออกจากโรงงานมาสด ๆ ร้อน ๆ และมาพร้อมโปรแกรมที่ติดตั้งไว้แล้วก็สามารถเกิดปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งโปรแกรมจะช่วยได้มาก หรือแม้แต่การติดตั้งมากับแพ็กเกจซอฟต์แวร์ แต่บ่อยครั้งที่ซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผู้ผลิตจะทำสัญญากับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เหล่านี้เพื่อรวมแพ็กเกจตัวทดลองใช้ของซอฟต์แวร์ที่ต้องจ่ายเงินมาไว้ด้วยกัน โดยที่ผู้บริโภคอาจไม่ได้ตั้งใจจะซื้อหรือแม้แต่จะทดลองใช้มันด้วยซ้ำ

Bloatware เป็นซอฟต์แวร์ที่ส่งผลกระทบในแง่ลบกับประสิทธิภาพของระบบ โดยกินทรัพยากรหน่วยความทรงจำและพื้นที่ดิสก์ ซึ่งหากใช้วิธีเดียวกันกับการลบโปรแกรมที่เราไม่ต้องการออกไปข้างต้น ก็อาจจะช่วยให้เราประเมินได้ว่า โปรแกรมไหนมีอยู่บนเครื่องเรามาโดยตลอด แต่ว่าไม่ได้มีคุณค่าอะไรกับประสบการณ์การใช้งานของคุณเลย 


4. เอามัลแวร์ออกไป

บ้างครั้งประสิทธิภาพการทำงานแย่ ๆ ของระบบอาจเป็นผลมาจากมัลแวร์ในเครื่องของคุณ ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องของคุณลงได้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถตรวจจับและลบอะไรก็ตามออกไปจากเครื่องของคุณได้เลย ซึ่งเครื่องมือกำจัดซอฟต์แวร์ฟรีก็มีอยู่ด้วยกันหลายตัว

มัลแวร์ขุดคริปโตเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบคุณได้อย่างมาก เพราะมัลแวร์เหล่านี้จะแอบใช้ทรัพยากรระบบของคุณเพื่อรันการคำนวณที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการขุดคริปโต ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะไม่เหมาะกับแล็ปท็อปที่มีสเปกพื้นฐาน

แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ การตรวจตราระบบของคุณเพื่อหาไวรัสหรือภัยอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการมีซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย ที่สามารถตั้งค่าให้สแกนแทนได้ในกรณีที่ตัวเองลืม


5. ลบทรัพยากรระบบที่ไม่จำเป็นออกไป

การลบทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้งานออกไปเป็นวิธีที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยทำให้ระบบรันได้ลื่นขึ้น คุณสามารถทำสิ่งนี้ได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือสแกนไฟล์ ซึ่งจะบอกว่า มีโฟลเดอร์หรือไฟล์เก่าที่คุณไม่ได้เปิดขึ้นมานานแล้วอยู่ตรงไหน ซึ่งนั่นจะรวมถึงเอกสารเก่า ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่บนแล็ปท็อป ไฟล์ขยะและคุกกี้ ที่ส่งผลกับประสิทธิภาพของเครื่องคุณ

มีเครื่องมือที่ช่วยคุณได้อยู่หลายตัว โดยโปรแกรมที่นิยมมากที่สุด คือ CCleaner พัฒนาโดย Avast ซึ่งสามารถลบไฟล์ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ใช้งาน หรือคำสั่งใน Windows Registry ที่ผิดพลาดออกไปจากคอมพิวเตอร์ ในปี 2017 แอปพลิเคชันดังกล่าวกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อแฮกเกอร์สามารถเจาะระบบของบริษัทเข้าไปแล้วใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวในการแพร่มัลแวร์ อย่างไรก็ตาม  Avast  ระบุว่าฟื้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว และทุกวันนี้ CCleaner ก็ยังเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้งานเยอะมากที่สุดอยู่ 

เครื่องมือนี้จะทำการสแกนฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ของคุณ และค้นหาโฟลเดอร์หรือไฟล์ที่ไม่ได้เปิดขึ้นมานานแล้ว จากนั้นก็จะลบทุกอย่างที่เข้าเงื่อนไขที่คุณตั้งไว้ และตรวจสอบปัญหาที่อาจมีอยู่ในเอนทรีคำสั่งที่ทำให้เครื่องของคุณช้าลง  เครื่องมือนี้ยังมีแถบที่ช่วยให้คุณสามารถถอนการติดตั้งโปรแกรมได้โดยไม่ต้องเข้าไปที่ Control Panel รวมถึงมันยังมีฟังก์ชันที่ปิดการเปิดอัตโนมัติของโปรแกรมอื่นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบไฟล์ที่ซ่อนอยู่และอาจใช้พื้นที่จัดเก็บเยอะเกินไปได้อีกด้วย
วิธีการใช้มีดังนี้
1.        ดาวน์โหลดและติดตั้ง CCleaner
2.        เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วให้เปิดแอปพลิเคชัน
3.        จากนั้นแอปพลิเคชันจะเปิดมาที่แถบ Health Check  ซึ่งจะรันการสแกนระบบทั้งหมด เพื่อตรวจหาปัญหาใด ๆ ก็ตาม แต่สามารถตั้งค่าการคลีนได้ เพื่อให้ได้ความละเอียดที่มากยิ่งขึ้น
4.        ในแถบ Custom Clean ให้เลือก Analyse เพื่อสแกนองค์ประกอบในส่วนที่เราเลือกไว้ จากนั้นให้เลือก Run Cleaner เพื่อดำเนินการ


6. ดีแฟร็ก (Defrag) ฮาร์ดดิสก์ของคุณ

ฮาร์ดไดรฟ์เก่า ๆ อาจประสบปัญหา Fragmentation หรือก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชิ้นส่วนของฝ่ายที่สมบูรณ์แล้วการจัดกระจายไปตามพื้นที่จัดเรียงของดิสก์ เนื่องจากหัวของดิสก์ต้องเข้าไปลึกยิ่งขึ้นเพื่ออ่านชิ้นส่วนที่แยกกันอยู่ทั้งหมด ดังนั้นจึงส่งผลให้เครื่องทำงานได้ช้าลง การดีแฟร็ก (Defragmentation) จึงเป็นการจัดเรียงดิสก์ใหม่เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ นั้นถูกจัดเรียงอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วของการเข้าถึงฮาร์ดไดรฟ์ได้

วิธีการดูว่าดิสก์ของคุณทำดีแฟร็กอยู่ไหมก็ง่าย ๆ เพียงแค่เข้าไปในแถบพื้นที่จัดเก็บของ Window 10 ในหน้าการตั้งค่า จากนั้นเลือก Optimise Drive ซึ่งจะเปิด Optimisation Wizard ขึ้นมา จากนั้นคุณก็จะสามารถวิเคราะห์ไดรฟ์ทั้งหมดบนเครื่องของคุณแยกกันได้ จะมีจำนวนร้อยละโชว์ขึ้นมาว่าแต่ละไดรฟ์นั้นมีอัตรา Fragement อยู่เท่าไหร่ จากนั้นคุณก็เลือกไดรฟ์ที่คุณต้องการได้เลย ซึ่งก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานมีความเสถียรและรวดเร็วยิ่งขึ้น 


7. ใช้ ReadyBoost เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยความจำ

ReadyBoost เป็นฟีเจอร์แสนชาญฉลาดที่ Microsoft ทำการเปิดตัวในฐานะส่วนหนึ่งของ Windows Vista หรือสั้น ๆ คือมันจะช่วยให้คุณ boost หน่วยความจำของระบบได้โดยใช้เพียงแค่แฟลชไดรฟ์เป็นความจุเพิ่มเติม

แม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ SSD แต่ ReadyBoost สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบได้พอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณใช้แล็ปท็อปที่ใช้พลังงานต่ำและเข้าถึงแรมได้อย่างจำกัด โดยมันจะกันส่วนหนึ่งของหน่วยความจำแฟลชไดรฟ์ไว้สำหรับทำสิ่งต่าง ๆ เช่น แคช ซึ่งจะช่วยให้แอปที่ใช้งานเป็นประจำเปิดได้เร็วขึ้น และเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงการอ่านแบบสุ่มของฮาร์ดดิสก์ หมายเหตุ คือ ถ้าเครื่องของคุณเร็วพอแล้ว ระบบ Windows จะป้องกันไม่ให้คุณใช้ ReadyBoost เพื่อไม่ให้เสียเวลากับกระบวนการที่ไม่ช่วยอะไรในการยกระดับประสิทธิภาพ


8. ปิดอนิเมชันที่ไม่จำเป็นทิ้ง

นับตั้งแต่ Windows Vista เป็นต้นมา (บางคนอาจแย้งว่า Windows XP) ทุกรุ่นของระบบปฏิบัติการ Microsoft ที่ตามมาหลังจากนั้นก็เริ่มมีอนิเมชันกราฟฟิกสวย ๆ รวมถึงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่เงาใต้รูปไอคอน ซึ่งช่วงยุคที่นิยมกราฟฟิกเหล่านี้สุด ๆ น่าจะเป็น Windows 7 ที่มีเอฟเฟกต์ Glow สวยหวาน แต่ไม่ได้มีฟังก์ชันในเรื่องการทำงานเท่าไรนัก  โดยปกติแล้ว ระบบ Windows มักจะปิดการใช้งานของสิ่งเหล่านี้โดยยึดจากระดับความแรงของระบบของคุณเป็นหลัก แต่ถ้าคุณยอมแลกความสวยงามเพื่อเพิ่มความเร็วขึ้น ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปิดการใช้งานกราฟฟิกทั้งหมด และเหลือเท่าที่จำเป็นต้องใช้

9. ปิดการอัปเดตอัตโนมัติ

ปกติจะไม่แนะนำให้คุณปิดการอัปเดตซอฟต์แวร์อัตโนมัติเท่าไรนัก เพราะนี่คือวิธีการง่ายที่สุดแล้วที่จะปกป้องเครื่องของคุณให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งหมายหรือปัญหาความเข้ากันได้ใด ๆ ก็ตาม เพราะการปิดการอัปเดตซอฟต์แวร์อัตโนมัตินั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เครื่องของคุณมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว การกระทำนี้ก็สามารถข่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องคุณได้เช่นกัน 

ตัวอย่างเช่น หากแล็ปท็อปทำงานของคุณเอาไว้เล่นเกมด้วย ก็มีความเป็นไปได้สูงที่แพลตฟอร์มจำหน่ายเกม เช่น Steam และ Epic Games Store จะติดตั้งการอัปเดตและแพตช์ขนาดใหญ่หลายรายการอยู่เบื้องหลัง หรือยังมี Adobe Creative Cloud ที่จะมีการอัปเดตสำคัญ ๆ รันอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของเครือข่ายมากกว่าเพียงแค่เรื่องความเร็วของระบบ ซึ่งเมื่อปิดใช้งานตัวเลือกนี้และเลือกอัปเดตเฉพาะเมื่อคุณต้องการใช้ซอฟต์แวร์จริงๆ ก็จะมั่นใจได้ว่าการอัปเดตเหล่านี้จะไม่รบกวนเวลาที่คุณอยากทำอย่างอื่น

เรายังคงแนะนำว่าซอฟต์แวร์สำคัญ ๆ หรือบริการที่ใช้บ่อย เช่น การอัปเดต Windows หรือโปรแกรมป้องกันไวรัส ยังควรปล่อยให้อัปเดตอัตโนมัติต่อไป แต่ถ้ามันไม่ไหวจริง ๆ  คุณก็อาจตั้งค่าให้โปรแกรมพวกนี้ทำการดาวน์โหลดและติดตั้งตามเวลาที่กำหนดในช่วงเวลาที่คุณไม่น่าจะใช้งานอุปกรณ์ เช่น ตอนกลางคืนหรือช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ 


10. เอาผลลัพธ์การค้นหาเว็บออกจากช่องค้นหา Windows 10

ดัชนีการค้นหาใน Windows 10 พัฒนาขึ้นมากหากเทียบกับ Windows ยุคเริ่มแรก โดยฟีเจอร์นี้จะสร้างดัชนีของไฟล์และโฟลเดอร์ทั้งระบบของคุณแล้วรวมกับ Metadata เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อค้นหาโดยใช้ฟังก์ชันการค้นหาของระบบปฏิบัติการ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ดัชนีการค้นหาของ Windows จะพัฒนาขึ้นมาก แต่การเพิ่มประสิทธิภาพของดัชนีค้นหาให้ดีขึ้นก็ยังช่วยให้ระบบของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ 

ขั้นแรก คุณสามารถปิดการใช้งานผลการค้นหาเว็บที่ปรากฏในเมนูค้นหาของ Windows 10  เพราะหลายๆ คนจะนิยมใช้ช่องค้นหาของเบราว์เซอร์มากกว่า โดยวิธีการก็ง่าย ๆ เพียงกดปุ่ม Windows พิมพ์ 'gpedit.msc' แล้วกด Enter เพื่อเปิด Group Policy Editor ซึ่งเมื่อเปิดขึ้นแล้ว ให้คลิกที่ Local Computer Policy > Computer Configuration > Administrative Templates > Windows Components > Search

ค้นหา Policies ที่เขียนว่า ''Do not allow web search'' ''Don't search the web or display web results in Search ' และ ''Don't search the web or display web results in Search over metered connections' จากนั้นให้ดับเบิลคลิกเพื่อแก้ไขและตั้งค่าแต่ละรายการเป็น 'enabled' เมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็รีสตาร์ทคอมพิวเตอร์เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผล หลังจากนั้นคุณก็จะไม่เห็นผลการค้นหาเว็บและคำแนะนำปรากฏในแถบค้นหาของระบบอีกต่อไป


11. ปรับระบบค้นหาของ Windows ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ

ถ้าต้องการปรับให้ฟังก์ชันการค้นหาของเครื่องเร็วขึ้น การแก้ไขตำแหน่งที่ Windows Search จัดทำดัชนี เพื่อแยกสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องค้นหาออกไปก็ช่วยได้เช่นกัน ตำแหน่งที่ว่านี้อาจรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ เช่น โฟลเดอร์ Appdata ที่มีแคชและคุกกี้ของเว็บเบราว์เซอร์ หรือโฟลเดอร์อื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องหา ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ใช้ Internet Explorer (การรองรับเว็บเบราวเซอร์นี้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2022) หรือใช้ Edge ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ดัชนีพวกนี้
วิธีการก็คือ
1.        เปิด Control Panel
2.        จากนั้น ให้คลิก “'All control panel items” ในแถบ Location ตรงหัวด้านบน
3.        เลือก Indexing Options
จากนั้นให้เปิดหน้าต่างที่แสดงที่ตั้งทั้งหมดที่อยู่ในดัชนีค้นหาของ Windows 10 ก็จะสามารถเลือกที่ตั้งได้แล้วว่าจะรวมที่ตั้งไหนหรือเอาที่ตั้งไหนออกจากดัชนี เพื่อช่วยให้ฟังก์ชันค้นหาว่องไวขึ้น 


12. ปรับปรุงระบบระบายความร้อนของเครื่อง

เคยเจอไหม แล็ปท็อปที่ร้อนจี๋ช่วงหน้าร้อน ซ้ำยังมาพร้อมเสียงเหมือนเครื่องบิน โชคร้ายที่นั่นเป็นศัญญาณเตือนว่าแล็ปท็อปของคุณมาถึงขีดจำกัดของอุณหภูมิที่ทำงานได้อย่างปลอดภัยแล้ว และพยายามระบายความร้อน โดยเพิ่มระดับความเร็วในการหมุนของพัดลมขึ้นแทน และลดความร้อนในหัวโปรเซสเซอร์ลงด้วยการลดระดับประสิทธิภาพนั่นเอง

มีแล็ปท็อปมากมายที่มาพร้อมระบบระบายความร้อนในตัว เช่น พัดลมหรือว่าฮีทซิงค์ ที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิและป้องกันไม่ให้องค์ประกอบภายในทำงานจนถึงขีดสุดอุณหภูมิ อย่างไรก็ตาม แม้แต่แล็ปท็อปที่ดีที่สุดก็อาจมีระบบระบายความร้อนที่ไม่ได้ดีขนาดนั้น จนทำให้คุณไม่มีโอกาสได้สัมผัสประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูงสุดของโปรเซสเซอร์ตนเอง 
โชคดีที่ในตลาดยังพอมีโซลูชั่นอยู่บ้าง ซึ่งคุ้มค่าแก่การซื้อมาใช้ เช่น แผ่นระบายความร้อน ซึ่งมีวิธีการใช้โดยนำไปวางไว้ใต้แล็ปท็อปของคุณ เพื่อเป่าลมเย็นเข้าไปจากภายใต้เครื่อง และช่วยให้องค์ประกอบภายในของแล็ปท็อปไม่โอเวอร์ฮีท โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะเหมาะกับแล็ปท็อปที่มีช่องระบายอากาศภายใต้เครื่อง และมีราคาเพียงสิบปอนด์ หรือ 420 บาทเท่านั้น


13. เพิ่มแรมของเครื่อง

การดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราลิสต์มาให้คุณนี้ เป็นทริคสำหรับการเพิ่มหน่วยความจำของระบบ ซึ่งใช้สำหรับงานในชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น แต่การเพิ่มความจุให้กับเครื่องก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าแล็ปท็อปของคุณเป็นแล็ปท็อปรุ่นเก่าที่มีหน่วยความจำเพียง 2GB หรือน้อยกว่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้มีจุดที่เราต้องอธิบายเพิ่มอยู่เล็กน้อย

ถ้าเกิด Window ที่คุณใช้อยู่เป็นเวอร์ชัน 32-bit จำนวนแรมสูงสุดที่คุณจะใช้ได้ในหนึ่งระบบก็คือ 3GB นี่หมายความว่าถ้าเกิดคุณมี 2GB แล้วคุณเพิ่มเข้าไปอีก 2GB วินโดวส์ตัวนี้ก็ยังจะรันได้แค่แรม 3GB เท่านั้น  เนื่องจากว่าระบบปฏิบัติการ 32-bit นั้นมีขีดจำกัดอยู่ในแง่ของหน่วยความจำ

ยิ่งไปกว่านั้น ทางเลือกนี้อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีสำหรับแล็ปท็อปจำนวนมาก เนื่องจากว่าในอดีต แล็ปท็อปนั้นนิยมใช้แรมแบบถอดออกได้ ซึ่งหมายความว่าสามารถถอดเปลี่ยนซ่อมหรืออัปเกรดได้ แต่เพราะขนาดที่บางลงของแล็ปท็อป ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงเลือกที่จะติดไดรฟ์ของแรมกับเมนบอร์ดไปเลย ทำให้การอัปเกรดหน่วยความจำกลายเป็นอะไรที่ทำแทบไม่ได้ ถ้าคุณโชคดี ก็อาจจะทำได้เพียงหาช่องใส่แรมให้เจอแล้วเปลี่ยนมันแค่นั้น

แต่ต่อให้แล็ปท็อปของคุณมี SODIMMs ถอดเปลี่ยนได้สำหรับแรม การเปิดเคสออกมาทำอะไรก็ตามนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการงัดแงะมากมาย ซึ่งอาจทำให้หลุดประกันได้ นั่นหมายความว่าถ้าเกิดแล็ปท็อปของคุณช้าจนทำให้รู้สึกว่าอยากอัปเกรดแรมนั้น ก็มีโอกาสที่แล็ปท็อปนั้นจะเก่าเสียจนประกันหมดแล้วก็เป็นได้ ยังไงก็อย่าลืมข้อนี้ด้วยแล้วกัน


14. เปลี่ยนมาใช้ SSD

แล็ปท็อปของคุณมีฮาร์ดไดรฟ์อยู่ การเปลี่ยนมาเป็น SDD ก็อาจจะทำให้ความเร็วในการอ่านและเขียนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประสิทธิภาพดีขึ้นในภาพรวม ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะ SDD ไม่มีส่วนที่ต้องเคลื่อนไหว ซึ่งหมายความว่าพึ่งพาได้มากกว่า และยังสามารถฟื้นฟูระบบที่ใกล้ลาโลกได้ ถ้าแล็ปท็อปของคุณใช้ SDD อยู่แล้ว ก็อาจหมายความได้ว่าถึงเวลาอัปเกรดเป็น SDD ที่ไวขึ้นแล้ว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ราคา SDD ถูกลงมากในขณะที่ประสิทธิภาพความจุเพิ่มขึ้น ดังนั้นการซื้อมาใส่ในแล็ปท็อปของคุณจึงไม่น่าจะเสียเงินมาก อย่างไรก็ตาม ก็เหมือนกับแรม แล็ปท็อปจำนวนมากไม่ได้มีฮาร์ดไดรฟ์ที่ถอดเปลี่ยนได้ หรือไม่อย่างนั้นก็มีรูปทรงแบบพิเศษที่ทำให้ไม่สามารถใส่ไดรฟ์ภายนอกลงไปเพิ่ม

สมมุติว่าแล็ปท็อปของคุณอัปเกรดได้ คุณก็สามารถใช้เครื่องมือโคลนเพื่อคัดลอก Windows จากดิสก์เก่าของคุณไปยัง SSD แทนที่จะต้องติดตั้ง Windows ใหม่ตั้งแต่ต้น มีเครื่องมือฟรีที่สามารถช่วยได้อยู่หลายเครื่องมือ เช่น Todo Backup Free 9.0 เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ผลิต SSD บางเจ้านั้นเลือกใส่คีย์ License สำหรับเครื่องมือ Disk Image ไว้ให้ตั้งแต่แรกซื้อด้วยเช่นกัน


15. เปลี่ยนไปใช้ Linux

ถ้าอะไร ๆ ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้นเลย คุณอาจจะลองเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการ Linux  แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ทางเลือกในอุดมคติสำหรับทุกคน แต่ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ควรค่าแก่การพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเหล่าโปรแกรมเมอร์หรือเดเวลลอปเปอร์ ซึ่งน่าจะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของ Linux  มากกว่า การเปลี่ยนไปใช้ Linux อาจหมายความถึงการเปลี่ยนไปใช้ระบบ ปฏิบัติการที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากระบบปฏิบัติการหลายเวอร์ชันของมันถูกออกแบบมาโดยมีเพียงจุดประสงค์เดียว คือ เพื่อใช้งานกับฮาร์ดแวร์เก่าของคุณได้อย่างอ่อนโยน อย่างน้อยก็อ่อนโยนกว่าเมื่อเทียบกับระบบ Windows

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียอย่างหนึ่งของตัวเลือกนี้ คือ การเปลี่ยนจากระบบปฏิบัติการ Windows เป็น Linux นั้นไม่ใช่วิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุด แต่เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความอดทน รวมถึงใช้ USB และการสแกนปัญหาของระบบอีกหลายครั้ง ในอีกแง่หนึ่ง ความท้าทายในการติดตั้งระบบปฏิบัติการนี้อาจเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เพราะ Linux นั้นเป็นระบบปฏิบัติการที่มีประโยชน์มากเลยทีเดียว และคุณอาจพบว่ามันใช้งานได้ง่ายกว่าที่เห็นในทีแรก


16. กัดฟันซื้อแล็ปท็อปเครื่องใหม่ไปเลย

แม้การซื้อแล็ปท็อปจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ โดยเฉพาะกับธุรกิจรายย่อย แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกสุดท้ายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะถ้าวิธีอื่น ๆ ที่ลองมาไม่ให้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง มีแล็ปท็อปราคาพอไหวและคุณภาพสูงอยู่มากที่เหมาะกับการใช้ในองค์กร ทางเลือกนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากแล็ปท็อปเก่า ๆ  ได้ในทันที 

การหาข้อมูลเพื่อซื้อแล็ปท็อปเครื่องใหม่เป็นอีกช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ สำหรับการประเมินว่าคุณต้องการฮาร์ดแวร์ที่มีคุณสมบัติประมาณไหน และวางแผนให้ดีว่าคุณอยากให้แล็ปท็อปของคุณทำอะไรได้บ้าง เช่น หากคุณเป็นคนทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ หรือเป็นนายจ้างที่อยากหาฮาร์ดแวร์ดีๆ ที่ไว้ใจได้ให้กับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน คุณอาจต้องพิจารณาเลือกจากกลุ่มแล็ปท็อปที่เหมาะที่สุดสำหรับการทำงานจากที่บ้าน

ที่มา: 
https://bit.ly/3IZCTm4

ควิกเซิร์ฟ
สินค้า
งานระบบ
บริการ
กิจกรรม
ออนไลน์
Server
Hyper converged
Storage
UPS
Networking
PC
All in one
Notebook
Monitor
Printer
Hosting
Google cloud
AWS
Microsoft Azure
SSL