แฮคติวิสม์ (Hacktivism) คืออะไร
แฮคติวิสม์ (Hacktivism) คืออะไร?
จะเป็น Anonymous หรือ Omega หรือใครก็ตาม แฮคเกอร์ผู้มีจิตสำนึกเหล่านี้มีอยู่จริง
การเจาะรหัสมักถูกโยงเข้ากับการก่ออาชญากรรมที่มุ่งโจมตีเว็บไซต์หรือปล่อยมัลแวร์เรียกเงินอยู่บ่อย ๆ แต่แฮคเกอร์บางคนอาจจะไม่ได้ทำไปเพื่อเงิน ด้วยความที่มีกระแสตื่นตัวทางการเมืองในสังคมสูง แฮคเกอร์บางคนจึงเลือกใช้ทักษะของตัวเองในการโจมตีอย่างมีเป้าหมาย เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนของตน
แฮคติวิสม์ (Hacktivism) คืออะไร?
คำว่า ‘แฮคติวิสม์’ เกิดขึ้นช่วงกลางยุค 90’ โดย Omega หนึ่งในกลุ่มแฮคเกอร์ Cult of the Dead Cow แต่คำดังกล่าวก็เพิ่งมามีชื่อเสีย (ง) เอาจริง ๆ เมื่อราว ๆ ช่วงปี 2010 และถึงแม้ว่ารูปแบบการโจมตีของแฮคติวิสม์จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี คำดังกล่าวก็ยังคงความหมายในรูปแบบเดิม นั่นก็คือ การใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ในการก่ออารยะขัดขืนเพื่อรณรงค์เป้าหมายทางการเมืองหรือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
ในส่วนของแรงบันดาลใจที่เป็นตัวขับเคลื่อนเหล่าแฮคติวิสต์นั้น ก็มีเครื่องมือและหลากหลายวิธีการแล้วแต่จะใช้ แต่วิธีหนึ่งที่นิยมมากที่สุดก็คือการโจมตี Ddos ที่เน้นถล่มโจมตีเว็บไซต์ด้วย traffic ปลอมๆ นั่นเอง
ก่อนหน้านี้ แฮคติวิสต์มักพึ่งการขโมยข้อมูลไฟล์หรือบันทึกเสียงของเป้าหมายเพื่อทำการเปิดโปงข้อมูลดังกล่าวลงพื้นที่สาธารณะอย่างอินเตอร์เน็ต วิธีการนี้มักใช้กับเป้าหมายที่มีบางอย่างต้องแอบซ่อน เช่นบริษัทยักษ์ใหญ่หรือรัฐบาล เป้าหมายหลัก ๆ มักเป็นกลุ่มทุนที่บริจาคให้กับการรณรงค์หาเสียง หรือบุคคลที่โดนข้อกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษีรวมอยู่ด้วย
ความเป็นมาของแฮคติวิสม์
แฮคติวิสม์มีที่มาจากโลกอินเตอร์เน็ตนับตั้งแต่ยุคที่แฮคเกอร์ยังชุมนุมกันอยู่บน Usenet และเว็บบอร์ดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แฮคเกอร์ยุคแรกเริ่มเหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์หัวเอียงซ้ายที่เป็นปฏิปักษ์กับทุนนิยมและบริษัทใหญ่ยักษ์ สิ่งนี้ได้ผสมผสานเข้ากับความซุกซนที่ไร้การควบคุม และความชื่นชอบในการปั่นหัวฝูงชนและระบบ ซึ่งนำไปสู่การเจาะรหัสมากมายหลายครั้งเพื่อประท้วงประเด็นทางสังคมและประเด็นทางการเมืองนั่นเอง
แฮคเกอร์มักใช้มัลแวร์หลากหลายรูปแบบในการขัดขวางการทำงานของเป้าหมาย โดยทำให้ระบบและเครือข่ายของเป้าหมายทำงานไม่ได้ ตัวอย่างในยุคแรกสุดคือปฏิบัติการที่มีชื่อสุดตลกว่า ‘หนอนน้อยสู้ไอ้ฆาตกรนิวเคลียร์’ หรือ W.A.N.K (ตัวย่อชัดเจนมาก!) ในปี 1989 มัลแวร์ถูกปล่อยในระบบเครือข่ายของ NASA เพื่อประท้วงการปล่อยจรวดขนยานกาลิเลโอซึ่งใช้นิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงออกสู่อวกาศ เจ้าหน้าที่รายงานว่าการโจมตีดังกล่าวได้ทำให้โครงการสูญเสียไปกว่าครึ่งล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากสูญเสียทรัพยากรและเวลาในการแก้ไข
Anonymous
ในส่วนของแฮคติวิสม์ยุคใหม่นั้น กลุ่มของพวกเขาถูกเรียกว่า ‘Anonymous’ กลุ่มนี้โผล่มาครั้งแรกในปี 2020 แต่เดิมทีชื่อ ‘Anonymous’ เป็นชื่อที่เรียกกลุ่มผู้ใช้บนเว็บบอร์ด 4chan แบบรวมๆ คนพวกนี้มักจะรวมกลุ่มกันโจมตีเป้าหมายแบบเล่น ๆ ไม่มีอะไรทำ การโจมตีเหล่านี้มีทั้งการเล่นตลกเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นการสั่งพิซซ่าจำนวนมากไปส่งบ้านคนอื่น และมีทั้งการโจมตีแย่ ๆ แบบการถล่ม Ddos ใส่เว็บไซต์คนอื่นหรือเปิดโปงตัวจริงของคนอื่นบนโลกออนไลน์
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Anonymous มีความแตกต่างจากที่อื่นก็คือมันไม่มีการสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการ ไม่มีส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการสมาชิกคนอื่น และไม่มีโครงสร้างองค์กรภายในใด ๆ ใคร ๆ ก็เข้าร่วมปฏิบัติการได้ และใช้วิธีโหวตเลือกเป้าหมายกับวิธีโจมตีกันในหมู่สมาชิกและแฟน ๆ ที่คอยติดตาม ในยุคแรก Anonymous ไม่ได้มุุ่งเน้นประเด็นทางการเมืองหรือเรื่องอุดมการณ์อะไรขนาดนั้น แต่มักมุ่งโจมตีคนดังในโลกอินเตอร์เน็ตที่เหล่าสมาชิกรู้สึกว่าต้อง ‘จัด’ สักหน่อยแล้วมากกว่า
จุดเปลี่ยนที่นำกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ความเป็นแฮคติวิสม์ครั้งแรกก็คือปฏิบัติการในปี 2008 ที่เกิดแคมเปญการโจมตีลัทธิไซแอนโทโลจี (Church of Scientology) ปฏิบัติการดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการ Canology’ ซึ่งก็คือการถล่ม Ddos เว็บไซต์ของไซแอนโทโลจีเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการประท้วงในโลกจริง ณ หลาย ๆ ศูนย์ของไซแอนโทโลจี เหล่าผู้ประท้วงทำการหยิบยืมหน้ากาก Guy Fawkes มาจากกราฟฟิคโนเวลเรื่อง V for Vendatta ซึ่งก็บังเอิญให้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นภาพจำของแฮคติวิสม์ในเวลาต่อมา
นอกจากปฏิบัติการ Canology แล้ว Anonymous ยังมีส่วนร่วมต่อสู้กับความพยายามที่จะขัดขวางเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต พวกเขาพยายามสู้กับร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act: SOPA) และร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี (Protect Intellectual Property Act: PIPA) ซึ่งทั้งสองร่างถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาจะเซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่าง ๆ และในปีต่อ ๆ มา กลุ่ม Anonymous ยังพยายามโจมตีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่าง ISIS ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าไปที่เว็บไชต์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้ในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของเหล่า ISIS
แฮคติวิสม์เป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง ในขณะที่หลายคนมองว่าการโจมตีไซเบอร์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต่อให้กระทำไปด้วยคุณธรรมสูงส่งอย่างไรก็ตามที ก็ยังมีอีกหลายคนที่ชื่นชมเหล่าแฮคเกอร์อย่าง Anonymous และคนอื่น ๆ ที่ทำตนเป็นศาลเตี้ยอยู่
แฮคติวิสม์ยุคหลัง
ถึงแม้ว่าตอนนี้แฮคติวิสม์อาจไม่ได้มีกระแสเหมือนช่วงพีค ๆ ของ Anonymous แล้ว แต่ในปี 2020 ก็ยังมีเหตุการณ์แฮคติวิสม์เกิดขึ้นอยู่ดี
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือตัวอย่างในเดือนกรกฎาคมที่แฮคเกอร์กลุ่มหนึ่งทำการเจาะระบบผู้รับเหมารายใหญ่รายหนึ่งที่ทำสัญญากับหน่วยข่าวกรองลับของรัสเซียได้สำเร็จ พวกเขาล้วงข้อมูลลับกว่า 7.5TB ออกมาได้ และทำการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้แฮคเกอร์คนอื่น ๆ และนักข่าว ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้มานั้นคือข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับโครงการไอทีของรัฐบาล ซึ่งถูกจ้างโดยหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย (Federal Security Service of the Russian Federation: FSB)
อีกหนึ่งเหตุการณ์อันน่าจดจำที่เกี่ยวกับ Anonymous ก็คือ หลังจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ในวันที่ 25 พฤษภาคม มีรายงานว่ากลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันเพื่อปิดเว็บไซต์ตำรวจรัฐมินนิแอโปลิส ซึ่งเมื่อกู้เว็บไซต์คืนได้ ผู้ใช้ทุกคนต้องกรอก captcha เพื่อให้แน่ใจว่าตนไม่ใช่บอทโจมตี Ddos
ที่มา: https://bit.ly/37Nenle