Open Source คืออะไร?
ซอฟต์แวร์ Open Source คืออะไร และผู้ขายจะสามารถทำเงินจากมันได้อย่างไร? เรามีคำตอบให้กับคุณ
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ นั้นยากที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งพื้นที่ที่ยังคงมีเรื่องราวดีๆ เช่นนี้อยู่ นั่นก็คือพื้นที่ในส่วนของซอฟต์แวร์ Open Source
ตามที่ชื่อของมันได้บอกไว้ Open Source นั้นเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดที่อาศัยความร่วมมือของนักพัฒนาทั่วโลกเพื่อสร้างซอฟต์แวร์ที่ดีกว่า โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวสามารถเปิดเผย Source Code หรือแหล่งที่มาของเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้ เพื่อให้บุคคลอื่นได้นำไปใช้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการ นอกจากนี้โปรแกรมดังกล่าวยังก็เปิดโอกาสให้ผู้อื่นดาวน์โหลด แก้ไข ดัดแปลง และเผยแพร่ได้อย่างอิสระ
ผลที่ตามมาก็คือ ซอฟต์แวร์ Open Source นั้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการที่จะนำมันไปใช้ และดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะเป็นที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผลพลอยได้ที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดของ Open Source นั่นก็คือ ด้วยความที่มันเป็น Source Code สาธารณะ ที่ใครๆ ก็สามารถปรับแต่งมันได้ จึงก่อให้ชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์ Open Source อันเกิดจากการรวมพลังความคิด ความรู้ความสามารถ จากนักพัฒนาจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทำงานร่วมกันในโครงการและแบ่งปันแนวคิดนี้
Component ของ Open Source ได้ถูกนำมาใช้กับแทบจะทุกชิ้นส่วนของเทคโนโลยีบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux Operating Systems) ซึ่งเป็นการให้บริการศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์, ซอฟต์แวร์ Android ที่อยู่เบื้องหลังโทรศัพท์ที่ดีที่สุดในโลก หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาองค์กร เช่น Puppet, Jenkins และ Chef เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกมากมายเกี่ยวกับการพัฒนา Open Source โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ เพราะนักพัฒนาแต่ละคนก็อาจจะมีประสบการณ์และพัฒนาการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ผลที่ตามมาก็คือ บุคคลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนที่มีความรู้ทางด้านเทคนิคที่มาพร้อมกับผลงานชิ้นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขา
ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง Open Source นั่นก็คือแนวคิดที่ว่า เมื่อโครงการพัฒนา (Development Project) ได้รับการปรับปรุงและเร่งรัดแล้ว กลุ่มของคนที่เกี่ยวข้องก็จะมีการขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ด้วยการพัฒนาทางด้านทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันนั้น ทำให้พวกเขาเกิดความความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เป็นของตัวเอง
หลักการของความร่วมมือเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยนักพัฒนาจากทั่วโลกที่ได้ทำการตัดสินใจที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาแต่ละคนได้ทำงานในพื้นที่ที่พวกเขารู้สึกถึงความสะดวกสบายมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน Code เหล่านี้ก็ได้ถูกแชร์ออกไปในหมู่ชุมชน (Community) และได้รับการแก้ไขโดยนักพัฒนาหลายคน ไปพร้อมๆ กัน
ในส่วนของโครงการ Open Source นั้น Source Code แบบสมบูรณ์จะถูกแชร์ออกสู่สาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการแชร์ผ่านแพลตฟอร์มสำหรับแชร์โค้ด อย่าง GitHub ที่อนุญาตให้ทุกคนตรวจสอบและเปลี่ยนแปลง Code ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดเงินสำหรับซอฟต์แวร์ที่เรากำลังพูดถึง เนื่องจาก ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและใช้ Code ของโครงการได้ แต่ในทางกลับกันข้อดีของมันก็คือ คุณจะได้รับข้อเสนอแนะ (Feedback) ความช่วยเหลือต่างๆ และการทำงานร่วมกันจากกลุ่มที่กว้างขึ้น ในกรณีที่คุณมีการพัฒนาจนเป็นส่วนหนึ่งของทีมมาตรฐาน ซึ่งก็หมายความว่าคุณจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในกรอบเวลาที่สั้นลง
แม้ว่าการอนุญาตให้ผู้คนจำนวนมากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Source Code อาจจะถูกมองว่ามีความเสี่ยง แต่ก็มีการอนุญาตให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในรูปแบบของการจับตาดูเป็นพิเศษ หรือบ่อยครั้งที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งค่าสถานะ (Flag) ของสิ่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็น Bug นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ Open Source ก็ยังให้การรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น ในแง่ของความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่มีอยู่รอบตัวที่พร้อมจะนำมาใช้ในการออกแบบหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
โดยทั่วไปลักษณะของความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการ Open Source มักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า นั่นอาจเป็นเพราะ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ทำการรวบรวมกำลัง, เวลา, ทรัพยากรและข้อมูลเชิงลึกของพวกเขา เพื่อการสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และการที่มีผู้คนจากอุตสาหกรรมต่างๆ มารวมกัน โดยที่แต่ละคนก็มีทักษะที่แตกต่างกัน ทำให้โครงการ Open Source เป็นโครงการที่มีการผสมผสานระหว่างทักษะ (Skill), ความสามารถพิเศษ (Talent) และประสบการณ์ที่หลากหลาย ในขณะที่โครงการอื่นๆ อาจจะไม่มี
เราอาจจะได้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยี Open Source ถูกใช้เป็นแกนหลักสำหรับทุกสิ่ง ตั้งแต่ซอฟต์แวร์สำนักงาน อย่างเช่น โปรแกรมประมวลผลคำและโปรแกรมแก้ไขรูปภาพ ไปจนถึงระบบปฏิบัติการและแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ ส่วนประโยชน์อื่นๆ ของซอฟต์แวร์ที่เปิดเผย Source Code (ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน) นั่นก็คือ ความที่มันเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ (Completely Free) ทั้งยังสามารถดาวน์โหลดและถูกรวบรวม (Compile) โดยใครก็ได้ นอกจากนี้โปรแกรมและเทคโนโลยีแบบ Open Source ก็ยังไม่มีค่าตอบแทนการให้ใช้สิทธิ (Licensing Fee) ที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้น และสิ่งนี้ก็ยังช่วยขยายขอบเขต รวมทั้งยังมีส่วนช่วยให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
ประวัติความเป็นมาของซอฟต์แวร์ Open Source
จุดเริ่มต้นของ Open Source นั้น ถือเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์, นักวิจัย และนักวิชาการ รวมไปถึงโปรแกรมเมอร์หลายๆ คนที่ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เป็นทางการ บนพื้นที่ที่มีการแบ่งปันความรู้และข้อมูลอย่างเสรีและเปิดเผย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างหลังจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มมีการหวงแหนทรัพย์สินทางปัญญา และมองเห็นว่าซอฟต์แวร์เหล่านั้นต่างก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของพวกเขา
ในอีกสองสามทศวรรษต่อมา แนวโน้มของนักพัฒนาที่จะมีการแบ่งปันความคิดก็จะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออำนาจในเชิงพาณิชย์และจรรยาบรรณที่เกี่ยวกับการแข่งขันนั้นมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้คนที่มีความกระตือรือร้นและมือสมัครเล่นจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเขียนและแจกจ่ายรหัส Open Source ต่อไป แม้ว่าจะอยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตมากขึ้นก็ตาม
หนึ่งในวิธีที่โปรแกรมเมอร์ใช้เพื่อแชร์ Code ของพวกเขาก็คือ มีการแชร์ผ่านทางหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีรหัสต้นฉบับ (Source Code) ที่สามารถนำไปทำซ้ำๆ ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำการคัดลอกและใช้งานได้ จนในที่สุดก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วๆ ไปตามบ้าน (Home Computers) ยกตัวอย่าง เช่น Commodore 64 และ ZX Spectrum ที่สามารถนำมาใช้สำหรับการสร้างเกมส์พื้นฐานได้
เมื่อคอมพิวเตอร์มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เหล่าโปรแกรมเมอร์จึงเริ่มทำการแบ่งปัน Code ของพวกเขาบนโลกออนไลน์ ทำให้สิ่งนี้จึงถูกนำไปสู่การเพิ่มจำนวนของโครงการ Open Source ได้เป็นอย่างมาก เมื่อนับจากโครงการที่มีอยู่เดิม และในที่สุดก็เริ่มมีการพัฒนาลินุกซ์ เคอร์เนล (Linux Kernel) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดย ลินุส โตร์วัลดส์ (Linus Torvalds)
คำว่า Open Source ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1998 โดยผู้สนับสนุนหลักการเหล่านี้ ซึ่งมันก็ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความนิยมพร้อมทั้งความซับซ้อนทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีต่อจากนั้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ซอฟต์แวร์ Open Source จะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่ของผู้ที่ชื่นชอบและมีความสนใจเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมก็ตาม แต่ขณะนี้ มันประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งในสายตาของคนทั่วไปและในหมู่องค์กรต่างๆ
ทำไม Open Source จึงมีประโยชน์?
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Open Source ก็คือ มันสามารถนำไปใช้ รวมทั้งดัดแปลงและแก้ไขได้ฟรีอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การหาทางเลือกฟรีสำหรับแพ็คเกจที่ดีที่สุดที่มีราคาค่อนข้างสูงจึงก็ไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจาก Microsoft Office หรือ Adobe Suite เป็นต้น
สำหรับโปรแกรมเมอร์ (Programmer) และนักพัฒนา (Developer) ประโยชน์ของการปล่อยผลงานสร้างสรรค์ของคุณในฐานะซอฟต์แวร์ Open Source (OSS) ก็คือ Feedback และความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนๆ ของคุณมีอิสระที่จะเปลี่ยนและปรับปรุง Code ของคุณ และพวกเขาก็ยังสามารถเพิ่มในส่วนของคุณสมบัติบางอย่างที่คุณไม่อาจคาดคิดหรือทำให้มันง่ายขึ้น เพื่อให้มันมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อว่าซอฟต์แวร์ Open Source จะต้องมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะหลังจากที่มีผู้คนจำนวนมากตรวจสอบและทำงานกับ Code บางส่วน ดังนั้นโอกาสที่มันจะเกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่ถูกตรวจพบก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน ข้อเท็จจริงที่ว่าช่องโหว่ Heartbleed bug ตรวจไม่พบใน OpenSSL Code ก่อนหน้านี้มานาน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ใครหลายๆ คนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎีนี้
บริษัทสามารถทำเงินจาก Open Source ได้อย่างไร?
คุณอาจจะมีคำถามในใจที่ว่า "ถ้าซอฟต์แวร์ Open Source นั้นฟรี! แล้วบริษัทอย่าง Red Hat และ Canonical จะสามารถทำเงินจากมันได้อย่างไร? "
ทั้งนี้ก็เพราะว่าองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ Open Source มักจะไม่ทำเงินจากการขายซอฟต์แวร์ของพวกเขาเอง แต่ทุกคนก็ยังสามารถดาวน์โหลดและใช้งานมันได้
นอกจากนี้ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรุ่นที่มีการปรับปรุงให้แก่องค์กรธุรกิจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินในจำนวนที่องค์กรสามารถจ่ายได้ โดยสิ่งเหล่านี้ก็มักจะรวมถึงความยืดหยุ่นที่มากขึ้น, คุณสมบัติที่มากขึ้น, ตัวเลือกการจัดการและการบำรุงรักษาที่ง่ายขึ้นนั่นเอง ส่วนกลยุทธ์ที่ผู้จำหน่าย Open Source มักจะนำมาใช้ก็คือ การนำเสนอซอฟต์แวร์เพื่อให้ผู้คนได้นำไปใช้ได้อย่างอิสระ แต่จะระงับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการและบริการเพิ่มเติมอื่นๆ จากบริษัทในส่วนที่ไม่ได้ทำสัญญา เนื่องจากธุรกิจไอทีต้องทำให้ช่วงเวลาของการหยุดทำงาน (Downtime) เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งจำเป็น และนี่ก็เป็นเหตุผลให้กลยุทธ์ดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
โครงการ Open Source ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร?
มีสาเหตุหลายประการที่ผู้คนมากมายเลือกที่จะมีส่วนร่วมในโครงการ Open Source แต่หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ความรู้สึกของการเป็นผู้ให้และจิตวิญญาณของชุมชนที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา นักพัฒนาหลายคนเพียงแค่คิดว่าพวกเขาต้องการที่จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และต้องการที่จะมีส่วนร่วมในโครงการที่พวกเขาคิดว่ามันมีประโยชน์และคุ้มค่า
ผู้เขียน Code บางคนก็ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักมากกว่าคนอื่นๆ เกี่ยวกับกระบวนการ เช่น ในกรณีที่นักพัฒนากำลังใช้เครื่องมือ Open Source ในโครงการใดโครงการหนึ่ง พวกเขาก็มักจะปรับแต่งหรือปรับปรุงมันตลอดช่วงเวลาแห่งความพยายามของพวกเขา ซึ่งการปรับปรุงเหล่านั้นก็จะถูกหมุนเวียนไปยังผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่เหลือ ดังนั้น จึงส่งผลให้การปรับปรุงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
สิ่งนี้ยังถูกนำไปใช้กับบริษัทที่ใช้ Open-Source Components ซึ่งจะสนับสนุน Code จำนวนมากให้กับโครงการ Open Source เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากวงจรการพัฒนาภายในบริษัทของพวกเขาเอง นอกจากนี้ บริษัทบางแห่งก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาด้วยการสนับสนุนโครงการ Open Source ที่มีอยู่เดิมด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง แต่เรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก
เรื่องที่พบได้บ่อยก็คือ บริษัทต่างๆ ที่ให้บริการเครื่องมือ พวกเขามีการพัฒนาขึ้นภายในแล้วส่งต่อไปยังชุมชน Open Source ซึ่งส่วนนี้เป็นความพยายามในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง ด้วยการจ้างบุคคลภายนอกเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการทำซ้ำของเครื่องมือเหล่านี้เพื่อชุมชนโดยรวม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเพื่อเป็นการตอบแทนผู้พัฒนา นั่นก็คือ การให้พวกเขาเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
Open Source มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน?
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจะเห็นได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากที่คอยตรวจสอบ Code ตลอดช่วงระยะเวลาในการสร้าง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว มันถือเป็นการเพิ่มโอกาสของช่องโหว่ความปลอดภัยและข้อผิดพลาดที่จะถูกค้นพบที่ได้รับการแก้ไขในภายหลัง ถึงแม้ว่าจะมีดวงตาสักกี่คู่ก็ตามที่คอยจับตาดู Code ที่รันผ่าน แต่กระนั้นความผิดพลาดของมนุษย์ก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นเช่นกัน
ข้อบกพร่องร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับ Code ที่ใช้ซ้ำได้ก็คือ ช่องโหว่ที่เป็นค่าเริ่มต้นยังถูกนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า Open Source Library ที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นได้ถูกฝังอยู่ในแอพพลิเคชั่นนับพัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แค่จุดอ่อนหรือช่องโหว่ (Vulnerability) หนึ่งช่องโหว่ใน Code เพียงชิ้นเดียว ก็สามารถทำให้ทุกคนเสี่ยงต่อการถูกโจมตีในรูปแบบเดียวกันได้ทันที
แม้ว่าจะพบช่องโหว่แล้ว แต่การแก้ไขจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึงสองปีในการเปิดตัว ซึ่งผู้ใช้อาจจะคิดว่าผู้สร้างหรือนักพัฒนามีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขรหัสของพวกเขา แต่ถ้า Code นั้นเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้วสำหรับนักพัฒนา ก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขายังจะมีแรงจูงใจที่จะแก้ไขงานของพวกเขาอยู่หรือไม่
ถึงอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความรู้สึกถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ Open Source จะทำให้ปัญหาหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะท้ายที่สุดแล้วนักพัฒนาที่สร้าง Code ก็ไม่ได้สนใจว่า Library ของพวกเขาจะเหมาะสมกับธุรกิจของคุณหรือไม่ เพราะพวกเขามัวแต่กังวลกับความสำเร็จของ Library ของตัวเอง ดังนั้นแทนที่จะทำการรวม Open Source Code ไว้ในแอพพลิเคชั่นของตัวเองแบบไม่ทันได้คิด ซึ่งเหล่าองค์กรธุรกิจก็อาจจะต้องทำการตรวจสอบด้วยตัวเองเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า Code นั้นปลอดภัย
ท้ายที่สุดแล้ว Code จาก Open Source ก็สามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากที่ว่ามันจะต้องไม่มีข้อผิดพลาดและจะต้องสมบูรณ์แบบ ไปจนถึงแนวทางการนำมาใช้ที่จะต้องมีความระมัดระวังและคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
ที่มา: https://bit.ly/2LWyrpH
สงวนลิขสิทธิ์ Copyright © 2024 บริษัท ควิกเซิร์ฟ โปรไวเดอร์ จำกัด
124/124 หมู่ที่ 2 ถนนนครอินทร์ ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130
โทรศัพท์ 0-2496-1234 โทรสาร 0-2496-1001