Slack และ Teams ต่างก็เป็นแอปพลิเคชั่นสื่อสารทางธุรกิจชั้นนำ แต่กลับรองรับสไตล์การทำงานที่ต่างกันไป
ข่าวลือมีอยู่ว่า ในปี 2016 ไมโครซอฟต์ตัดสินใจปล่อย Slack ให้หลุดมือไป โดยบริษัทเลือกที่จะสละธุรกิจมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วหันไปขยายกิจการโมเดลธุรกิจ Skype ที่มีอยู่แล้วแทน จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของ Microsoft Teams ในปี 2017 ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการประชุมทางไกลไป
แล้ว Slack ล่ะ? ในเดือนตุลาคมปี 2019 บริษัทมีรายงานชี้แจงว่า Slack มีผู้ใช้งานมากถึง 12 ล้านรายต่อวัน ผู้ใช้เหล่านี้จำนวนมากใช้เวลาเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน แน่นอนว่าก็ต้องบอกด้วยเช่นกันว่ายอดผู้ใช้งานของ Microsoft Teams นั้นแตะ 13 ล้านรายภายในระยะเวลาเพียงสองปี ในขณะที่ Slack ใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะมียอดผู้ใช้ถึง 10 ล้านราย แต่เอาเรื่องตัวเลขออกไปก่อน คำถามคือแล้วแพลตฟอร์มทำงานร่วมกันเหล่านี้มีข้อแตกต่างกันอย่างไร?
เมื่อพูดถึงการกำหนดราคา ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ทั้ง Slack และ Teams ต่างก็เสนอแผนใช้งานฟรีสำหรับผู้ใช้ที่อยากเข้ามาลองดูก่อน แต่องค์กรที่กำลังเติบโตและธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจรู้สึกเหมือนถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดของแผนใช้งานฟรี บริษัทเหล่านี้อาจมองว่าการอัพเกรดเป็นแผนแบบชำระเงินนั้นคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า
ในขณะที่ราคาของแผน Office 365 ที่กำลังจะกลายเป็น Microsoft 365 ในอีกไม่นานและรวม Microsoft Teams เข้ามาด้วยนั้นอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ใช้ต่อเดือน และบริษัทก็ต้องสมัครรายปีเพื่อใช้งาน
แผนราคาถูกที่สุดของ Slack อยู่ที่ 6.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ใช้ต่อเดือนเมื่อจ่ายเงินแบบรายปี และสำหรับผู้ที่สนใจตัวเลือกแผนแบบเดือนต่อเดือน อัตราราคาพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ใช้ต่อเดือน ในขณะที่แผนแบบอัพเกรดของทั้ง Slack และ Microsoft Teams อยู่ที่ราคา 12.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อผู้ใช้ต่อเดือน แม้จะราคาเท่ากัน แต่ก็อย่าลืมว่า Teams มี Office 365 มาให้ด้วย
ด้วยความที่ Teams เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของไมโครซอฟต์ มันถึงทำงานประสานกับ Office 365 ได้ค่อนข้างดี สำหรับคนที่ใช้โปรแกรมอย่าง SharePoint, OneNote, PowerBI หรือ Planner บ่อยๆก็สามารถใช้คู่กับ Teams ได้ง่าย ไมโครซอฟต์ยังรองรับแอพพลิเคชั่นภายนอกจำนวนหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถใช้ร่วมกัน Teams ได้โดยสะดวกอีกด้วย
อีกด้านหนึ่ง ทาง Slack ก็โอ่ว่ามีรายการแอพพลิเคชั่นมากกว่า 2,000 แอพฯ ที่ผู้ใช้สามารถใช้ร่วมกับ Slack ได้ เช่น Google Drive, Asana, Salesforce และแอพอื่นๆอีกมากมาย ทั้งสองแพลตฟอร์มต่างก็มีบอทเป็นตัวช่วย บอทของ Slack มีชื่อว่า “Slackbot” ในขณะที่บอทของ Teams ชื่อว่า “Who bot” บอทแต่ละตัวคอยทำหน้าที่ตอบคำถามของผู้ใช้และช่วยเหลือทั้งองค์กรและส่งเสริมประสิทธิผลการทำงาน
Slack และ Teams มีทั้งการประชุมทางเสียงและการประชุมทางวิดีโอ Teams นั้นล้ำหน้าเพราะมีประสบการณ์มากมายหลายปีในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และปรับแต่งมันให้เข้ากับความต้องการทั้งธุรกิจรายย่อยและรายใหญ่ แม้แต่ Teams แบบฟรีก็ยังสามารถประชุมพร้อมกันได้ถึง 250 คน ในขณะที่แผนอัพเกรดสามารถประชุมพร้อมกันได้ถึง 10,000 คน
แผนใช้งานฟรีของ Slack ใช้ได้เพียงการโทรหรือวิดีโอคอลแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซ้ำยังไม่มีให้แชร์หน้าจอถ้าไม่ใช่แผนแบบอัพเกรด ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใช้แผนแบบชำระเงินของ Slack ที่มีให้ประชุมทางเสียง ประชุมทางวิดีโอหรือแชร์หน้าจอ ก็จะเข้าร่วมได้เพียง 15 คนเท่านั้น
ทั้ง Teams และ Slack ต่างก็สามารถใช้ห้องสนทนาได้ แล้วยังมีระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ที่คอยเตือนผู้ใช้เวลามีคนเอ่ยชื่อพวกเขาในหัวข้อกระทู้สนทนาแบบจำเพาะ แต่ละเครื่องมือต่างก็มีให้ผู้ใช้ส่งข้อความหาคนอื่นได้โดยตรงและมีห้องสนทนาแบบส่วนตัว
หัวข้อกระทู้สนทนาก็เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากใน Slack และ Teams ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรม Slack ไปสุดกว่าในเรื่องฟีเจอร์แสนสะดวกตัวนี้ผ่านทางการยอมให้ผู้ใช้สามารถย้ายกระทู้สนทนาไปยังห้องสนทนาส่วนตัวที่คุยแบบตัวต่อตัวได้
ทั้ง Microsoft Teams และ Slack ต่างก็ใช้วิธียืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอนและเข้ารหัสข้อมูล ไมโครซอฟต์จัด Teams อยู่ในระดับ D-compliant นั่นหมายความว่าการจัดการตามข้อกำกับทั้งหมดตามระเบียบบริษัทของไมโครซอฟต์จะถูกใช้กับ Teams ไปโดยปริยาย
ถ้านั่นยังไม่พอ Teams ยังเปิดให้ควบคุมระบบได้แบบแอดมินฯมากเสียยิ่งกว่าคู่แข่ง ไม่เพียงแต่แอดมินฯจะสามารถเข้าถึงการควบคุมธรรมาภิบาลข้อมูลและ DLP แต่ยังสามารถปรับแต่งสมาชิก เจ้าของ และไฟล์ข้อมูล และระดับการเข้าถึง SharePoint ได้อีกด้วย
Teams ยังคงทำได้มากกว่า Slack ในเรื่องของการช่วยเหลือและให้การสนับสนุน ผู้ใช้ Slack แบบฟรีสามารถเข้าใช้งานได้เพียงบริการช่วยเหลือมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงก็ต้องอัพเกรดเป็นแบบชำระเงิน และถ้าผู้ใช้ต้องการยกระดับการช่วยเหลือให้ได้รับคำตอบกลับภายใน 4 ชั่วโมงก็อาจจะต้องใช้ Slack Plus ในขณะที่ Microsoft Teams มีบริการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงทั้งสายโทรและแบบออนไลน์ในแผนแบบฟรีและแบบชำระเงิน
ทั้ง Teams และ Slack ต่างก็เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับทีมที่กำลังมองหาแอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์มทำงานร่วมกัน ทั้งสองโปรแกรมต่างถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการทำงานร่วมระหว่างทีมเป็นหลัก แต่ก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน
Microsoft Teams มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการข้อกำกับเพิ่มขึ้นมา แล้วยังสามารถทำงานประสานกับ Office 365 ได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ครอบคลุมรอบด้านสำหรับธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้นมา Teams ยังผ่านฉลุยเมื่อใช้จัดการประชุมวิดีโอไม่เหมือน Slack และแม้แต่แบบฟรีก็ยังสามารถใช้ประชุมร่วมกันได้ถึง 250 คน
อีกด้านหนึ่ง Slack ก็เป็นตัวเลือกที่เยี่ยมสำหรับทีมที่มีขนาดเล็กลงมาและสำหรับผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานทางไกลด้วยเน้นไปที่การส่งข้อความ Slack ได้ทำให้การสื่อสารอย่างต่อเนื่องระหว่างสมาชิกทีมกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคำนึงถึงรายการแอพพลิเคชั่นทั้งหลายที่สามารถใช้งานร่วมกับ Slack ได้แล้ว ธุรกิจก็สามารถนำตรงจุดนี้ไปปรับใช้กับความต้องการในการทำงานของตนได้อีกด้วย
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า Slack ใช้สนุกมากไม่เหมือน Teams เพราะ Slack เปิดให้ผู้ใช้โพสต์ข้อความโดยใช้นามแฝงของตัวเองเป็นใครก็ได้ จะเป็นบียอนเซ่ผู้เป็นตำนานไปจนถึงบิล ลัมเบิร์กผู้จัดการสุดโปรดของทุกคนก็ย่อมได้ แถม Slack ยังมีอีโมจิมากมายไม่หมดสิ้นที่รอให้ทุกคนใช้ และทำได้ถึงขั้นสร้างอีโมจิเองจากรูปที่ชอบ
แต่โชคร้ายที่ข้อเสียประการใหญ่ที่สุดของ Slack คือมันไม่ได้ครอบคลุมเท่า Teams แม้ Slack จะประสานงานกับโปรแกรมอื่นได้มากมาย แต่ Teams ก็ช่วยได้มากกว่าถ้าเป็นเรื่องของการจัดประชุมขนาดใหญ่และสนับสนุนผู้ใช้ได้เหนือกว่า แน่นอนว่าการแก้ปมนี้ไม่ได้ง่ายเพียงการเลือกโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรว่าเครื่องมือแบบไหนพิสูจน์ได้ว่าตนมีประสิทธิภาพมากกว่า และทั้งสองโปรแกรมยังมีแบบฟรีให้ใช้งาน คำแนะนำของเราน่ะหรือ? ทดลองใช้ดูทั้งคู่เลยว่าโปรแกรมไหนเข้ากับความต้องการของทีมคุณมากกว่ากันแน่ Slack หรือ Teams?
ที่มา: https://bit.ly/3eTIMyK