1726202978.png
1731393918.jpg
1732076627.jpg
1730459076.jpg
1730782055.jpg
1730966771.jpg
1731999875.jpg
เปรียบเทียบพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับเก่าและฉบับใหม่ เหมือนและต่างกันอย่างไร
เปรียบเทียบพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับเก่าและฉบับใหม่ เหมือนและต่างกันอย่างไร
ตั้งแต่ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เพื่อประกาศใช้แทนฉบับเก่า เชื่อว่ายังมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ที่ยังไม่ทราบและยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของพรบ.ฉบับนี้ วันนี้เราจึงจะมาสรุปความสำคัญและความแตกต่างของพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิมกับฉบับล่าสุดให้คุณได้ทราบกันภายในไม่กี่นาที
ความสำคัญของพรบ.คอมพิวเตอร์
พรบ.คอมพิวเตอร์ก็คือกฎหมายที่บังคับใช้กับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหลาย เนื่องด้วยปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากมายอยู่ในอินเตอร์เน็ตที่ผ่านการนำเข้าและการเรียกดูจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเลต และสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในโลกออนไลน์เหล่านั้นมีทั้งข้อมูลที่เป็นความจริง รวมถึงข้อมูลที่เป็นเท็จ อีกทั้งยังมีการกระทำซึ่งเป็นเจตนาของการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน ปลอมแปลง ไปจนถึงการทำลายระบบเพื่อสร้างความเสียหายให้กับตัวบุคคลและส่วนรวม พรบ.คอมพิวเตอร์จึงเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการบังคับใช้ หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น พรบ.ฉบับนี้จะช่วยให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษตามกฎหมายได้
ความแตกต่างของพรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับปี 2550 และ ปี 2560
พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ใช่พรบ.ฉบับแรกที่ถูกประกาศใช้ แต่เป็นฉบับที่ 2 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากฉบับแรก โดยเน้นเรื่องของบทลงโทษ ได้แก่
การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและประชาชน จากที่พรบ.ฉบับเดิม กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท เปลี่ยนเป็นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น – 1.4 แสนบาท รวมถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความแก่ประชาชน พรบ. ปี 2560 ก็ได้กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
ในประเด็นของผู้ให้บริการที่ไม่ลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งระบุไว้ในพรบ.ฉบับเดิม ที่ผู้ให้บริการจะได้รับโทษก็ต่อเมื่อมีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือยินยอมเท่านั้น แต่ในพรบ.ฉบับใหม่จะมีการระบุความรับผิดชอบก็ต่อเมื่อผู้ให้บริการร่วมมือหรือรู้เห็นเป็นใจเท่านั้น หากผู้ให้บริการได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบข้อมูลเหล่านั้นทิ้งก็จะไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด ส่วนการส่งข้อความในลักษณะของ Spam mail ในพรบ. ปี 2560 ก็ได้มีการเพิ่มโทษจากโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาทด้วย
นอกจากนี้พรบ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ยังได้มีการเพิ่มการกระทำที่ก่อความเสียหายให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบความมั่นคง ที่แต่เดิมไม่มีโทษเฉพาะ พรบ.ฉบับใหม่ได้มีการกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น – 2 แสนบาท
ใครที่ยังไม่รู้ว่าพรบ.คอมพิวเตอร์มีการแก้ไขและปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับแรกและได้มีการประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว ต้องทำการอัพเดทความรู้โดยด่วน เพราะหากพลาดพลั้งทำอะไรลงไปในโลกออนไลน์โดยไม่ได้ไตร่ตรองล่วงหน้า อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ก็เป็นได้